“A Sound mind is in a sound body” “จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์” John Lock

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การเต้นแอโรบิก


           เชื่อว่าสาวๆ หลายคนคงเคยสนุกกับการไปออกกำลังกายตอนเย็น ด้วยการเต้นแอโรบิก ตามสวนสาธารณะ แต่ว่านะการเต้นแอโรบิกนอกจากจะช่วยเผาผลาญไขมัน ลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วนแล้ว คุณรู้ไหมว่า มันยังช่วยอะไรกับเราอีก..ยังช่วยให้ตัวเราได้เข้าสังคมควบคู่กันไปด้วย

         แล้วแบบไหนล่ะ ถึงจะเรียกว่า “เต้นแอโรบิก” .....



            การเต้นแอโรบิก คือการขยับร่างกายให้กล้ามเนื้อมีการทำงานต่อเนื่องทุกสัดส่วน เมื่อกล้ามเนื้อมีการทำงานตลอด มันก็จะเป็นการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ไม่หย่อนคลอยตามแรงโน้มถ่วงของโลกก่อนวัยอันควร แต่สิ่งที่ได้เพิ่มเติมมาก็คือ


             อันดับแรก....ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เพราะเวลาเราออกกำลังกาย โดยเฉพาะแอโรบิกนั้น จะเป็นการออกกำลังกายแบบเกือบจะทุกสัดส่วน เพราะว่ามันต้องเคลื่อนไหวตลอด เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายจะสูบฉีดเลือด ทำให้หัวใจทำงาน และช่วยเพิ่มเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น อีกทั้งยังลดอัตรการเต้นของหัวใจ เมื่ออยู่ในภาวะการออกกำลังกาย เมื่อกล้ามเนื้อเราแข็งแรง เราจะออกกำลังกายได้ดี ไม่ค่อยเหนื่อย (ลองนึกถึงแรกๆ เราไปเต้นแอโรบิกดูดิ.. เหนื่อยลิ้นห้อยเลย เต้นตามไม่ทันอีกต่างหาก พอเต้นไปสัก 1 อาทิตย์ ร่างกายเริ่มเข้าที่ เริ่มเหนื่อยช้าลง) และเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ก็ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เพราะว่าหัวใจเราสูบฉีดแรงอยู่แล้ว เส้นเลือดต่างๆ ก็ไม่อุดตัน ความดันเลยปกติ

         อันดับที่สอง....ทำให้ระบบหายใจดีขึ้น เพราะปอดมีการรับออกซิเจนมากขึ้น หายใจได้ลึกขึ้น ปอดมีการขยายมากขึ้น และเมื่อปอดขยาย สามารถรับออกซิเจนได้มากขึ้น ร่างกายก็รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนของอากาศในปอดทำงานได้ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อมีออกซิเจนมากขึ้น การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ปอด ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งเราออกกำลังกาย ในสถานที่ที่มีออกซิเจนมากๆ เช่น ตามสวนสาธารณะ ที่มีออกซิเจนบริสุทธิมากๆ ปอดก็จะได้รับออกซิเจนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย


            อันดับที่สาม....ช่วยให้ระบบเคมีในเลือดดีขึ้น เพราะการออกกำลังกายเป็นการเผาผลาญไขมัน เมื่อไขมันในร่างกายถูกใช้ไป เลือดของเราก็เดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้ปริมาณไขมันในเลือด (คลอเลสเตอรอล) ลดลง และไตรกลีเซอไรด์ก็ลดลงเช่นกัน ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แลโนคหลอดเลือดสมองอุดตัน อีกทั้งยังเพิ่ม HDL (คอเลสเตอรอล ตัวดี ที่ร่างกายต้องการมาก และจะเพิ่มได้ด้วยการออกกำลังกายเท่านั้น) ซึ่งเป็นตัวช่วยลดการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และยังลดน้ำตาลส่วนเกิน ป้องกันโรคเบาหวาน เพราะว่าเวลาเราออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องใช้พลังงานมาก ร่างกายจะไปดึงเอาน้ำตาลมาแปลงเป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลส่วนเกินในเลือดต่ำลง ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานได้ค่ะ


         และอันดับสุดท้าย....ช่วยในด้านระบบประสาทและจิตใจ และสามารถลดความเครียดได้ดีเพราะว่าการออกกำลังกายนั้น คุณจะไม่ค่อยได้คิดเรื่องที่เครียด ใจจะจดจ่อกับการเต้น และเวลาเหงื่อออกจนถึงระดับหนึ่ง ร่างกายก็จะหลั่งสาร Endorphin จากสมอง เป็นสารที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสบาย รู้สึกปลอดโปร่ง


การเต้นแอโรบิค แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน

         1. เริ่มด้วยการอบอุ่นร่างกาย (Warm Up) ก่อนที่จะมาลีลาท่าทางในการเต้นแอโรบิก ต้องมีการวอร์มร่างกายก่อน โดยการเดินอุ่นเครื่องสัก 3 – 5 นาที และแกว่งแขนสะบัดไปมา ให้กล้ามเนื้อตื่นก่อน        
         2. การเต้นแอโรบิค(Aerobic) เริ่มออกลีลาท่าทางในการเต้นให้ร่างกายได้ขยับครบทุกสัดส่วนได้เลย 
         3. การผ่อนคลาย (Cool Down) หลังจากที่ออกลีลากันไปเต็มที่แล้ว ก่อนจะกลับไปพักผ่อน ควรมีการคลายกล้ามเนื้อให้เข้าที่ด้วยการเหยียดแขน-ขา และบิดตัวไปมาสัก 3 – 5 นาที เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติ




การเตรียมตัวเพื่อการเต้นแอโรบิค มีอยู่หลายประการด้วยกัน ดังนี้

         1. สวมเสื้อผ้าให้กระชับพอดีตัว เพื่อความคล่องตัว
         2. อย่าสวมเสื้อผ้าหนาจนเกินไป เพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดีพอ อับชื้น เป็นบ่อเกิดให้เป็นเชื้อราทางผิวหนังหรือสิวตามตัวได้
         3. ควรสวมรองเท้าผ้าใบและถุงเท้าทุกครั้ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของเท้า
         4. ควรเตรียมน้ำ 1 ขวด เอาไว้ดื่มแก้กระหายในเวลาพักแต่ละช่วง เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ เพราะอาจจะช็อกได้
         5. ควรเตรียมผ้าขนหนู 1 ผืนเอาไว้ซับเหงื่อ
         6. ควรงดรับประทานอาหารก่อนการเต้นแอโรบิค 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากอาจทำให้จุก เสียดและอาเจียน ขณะเต้นแอโรบิคได้
         7. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ตรวจสอบความพร้อมของร่างกายและขอคำปรึกษาก่อนเริ่มเต้นในครั้งแรกๆ เนื่องจากการเต้นแอโรบิคอาจจะเป็นการออกกำลังกายที่ถือว่าหนักเกินไป สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคหัวใจ หรือท่าบริหารบางท่าอาจจะทำให้ท่านบาดเจ็บได้ เช่น ท่ากระโดด เมื่อข้อเข่าของท่านไม่แข็งแรงอาจได้รับบาดเจ็บได้….



เทคนิควิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการสร้างมิตร ที่สามารถทำได้ง่ายๆ มาฝากครับ

         1. ต้องยิ้มแย้ม หมายถึง เราจงยิ้มแย้มเข้าไว้ ยิ้มอย่างจริงใจ ยิ้มทุกที่ ยิ้มให้กับทุกคน
         2. ต้องแจ่มใส หมายถึง การที่เรามีอารมณ์ที่แจ่มใส สดใส ใครอยู่ใกล้ก็รู้สึกอบอุ่นมีความสุข
         3. ต้องตั้งใจสนทนา หมายถึง เราจงตั้งใจสนทนา เป็นผู้ฟังมากๆ ยิ่งฟังมากก็จะรู้มาก
         4. ต้องเจรจาไพเราะ หมายถึง เราจงเจรจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะเสนาะโสต คำพูดที่รื่นหูจะมีแต่คนนิยมชมชอบ ไม่มีใครชอบคนพูดตะคอก พูดเสียดสี
         5. ต้องสงเคราะห์เกื้อกูล หมายถึง เราจงให้การสงเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่เราเกี่ยวข้อง เช่น ให้ความช่วยเหลือจัดหาสิ่งของมาฝากบ้างตามสมควร

         เห็นไหมครับว่า...แค่เราทำแค่นี้ไม่ยากเลย เราทุกคนก็จะสามารถมีเพื่อน มีสังคม สามารถเข้าร่วมกับผู้อื่นได้แล้ว ถ้ายังไงทุกท่านลองนำวิธีเหล่านี้ไปทำกันดูนะครับ...


....ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)...





วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การหาอัตราการเต้นหัวใจเป้าหมาย (Target Heart Rate Zone)


วิธีการหาอัตราการเต้นหัวใจเป้าหมาย (Target Heart Rate Zone)

เหนื่อยแค่ไหนจึงจะพอ และได้ประโยชน์
ขั้นที่ 1 : หาอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด โดยคำนวณจากสูตร
              อัตราการเต้นหัวใจสูงสุด = 220-อายุ

ขั้นที่ 2 : หาช่วงความเหนื่อยเป้าหมาย (Target Heart Rate Zone)
             ช่วงเผาผลาญไขมัน (Fat Burning Zone)   = 55-65% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด
             ช่วงเพิ่มสมรรถภาพหัวใจ (Aerobic Training Zone)  = 65-85% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด

ตัวอย่างเช่น คุณไชยพร มีอายุ 20 ปี ต้องการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพหัวใจ
สามารถหาระดับความเหนื่อยที่เหมาะสมของคุณสมบูรณ์ได้ ดังนี้
           อัตราการเต้นหัวใจสูงสุด = 220-20 ,= 200 ครั้ง/นาที
          ความเหนื่อยต่ำสุดของช่วงเป้าหมาย = 200 x 0.65 ,= 130 ครั้ง/นาที
          ความเหนื่อยสูงสุดของช่วงเป้าหมาย = 200 x 0.85 ,= 170 ครั้ง/นาที
ดังนั้น อัตราการเต้นหัวใจเป้าหมายของคุณไชยพร คือ 130-170 ครั้ง/นาที


ความหมายของ "สุขภาพ"


        องค์การอนามัยโลก ( WHO ) ได้ให้ความหมายของคำว่า "สุขภาพ" ไว้ว่า "สุขภาพ" หมายถึง  ภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยดี ไม่ใช่เพียงแต่ความปราศจากโรค หรือทุพพลภาพเท่านั้น
        ความหมายของ "สุขภาพ" ในปัจจุบัน มีองค์ประกอบ 4 ส่วน ด้วยกันคือ
        1. สุขภาพกาย (Physical Health) หมายถึง สภาพที่ดีของร่างกาย กล่าวคือ อวัยวะต่างๆอยู่ในสภาพที่ดี มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ และมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนเป็นอย่างดี และก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน
        2. สุขภาพจิต (Mental Health) หมายถึง สภาพของจิตใจที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส มิให้เกิดความคับข้องใจหรือขัดแย้งในจิตใจ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข  สามารถควบคุมอารมณ์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้มีสุขภาพจิตดี ย่อมมีผลมาจากสุขภาพกายดีด้วย ดังที่ John Lock ได้กล่าวไว้ว่า “A Sound mind is in a sound body” คือ “จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์”
        3. สุขภาพสังคม (Social Health) หมายถึง บุคคลที่มีสภาวะทางกายและจิตใจที่สุขสมบูรณ์ มีสภาพของความเป็นอยู่หรือการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่ทำให้ผู้อื่น หรือสังคมเดือดร้อน สามารถปฏิสัมพันธ์และปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดีและมีความสุข
        4. สุขภาพจิตวิญญาณ (Spiritual Health) หมายถึง สภาวะที่ดีของปัญญาที่มีความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสูความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่